สุขศึกษา

การปฐมพยาบาล หมายถึง การให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ หรือเจ็บป่วยกระทันหัน ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้พ้นอันตราย ก่อนที่จะส่งไปให้แพทย์รักษาต่อไป โดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือเท่าที่หาได้ในขณะนั้น วัตถุประสงค์ของการปฐมพยาบาล 1. เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป และพยายามช่วยชีวิตไว้ 2. เพื่อลดความรุนแรง ภาวะไม่พึงประสงค์ และป้องกันความพิการ 3. เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทรมานและช่วยให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว การปฐมพยาบาลที่ดี ผู้ช่วยเหลือควรให้การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง รวดเร็ว นุ่มนวลและคำนึงถึงสภาพด้านจิตใจของผู้บาดเจ็บควบคู่ไปด้วย โดยควรปลอบประโลมและให้กำลังใจ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือและปลอดภัย การปฐมพยาบาลผู้ที่มีบาดแผล บาดแผล แบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ดังนี้ 1. แผลฟกช้ำ เกิดจากการกระแทกจากของไม่มีคม ทำให้มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเลือดออกใต้ผิวหนัง มีอาการเจ็บปวด บวม และผิวหนังมีสีแดง ถ้ามีความรุนแรงมากขึ้น หลอดเลือดใต้ผิวหนังจะฉีกขาดด้วย ทำให้ผิวหนังมีสีแดงคล้ำ หรือม่วง การปฐมพยาบาล 1. ยกและประคองส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่ในท่าที่สบาย 2. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบเบาๆบริเวณแผลช้ำ นานประมาณ 30 นาที แล้วใช้ผ้ายืดพันไว้ให้แน่นพอสมควร เพื่อให้เลือดหยุดและช่วยจำกัดการเคลื่อนไหว และให้บริเวณแผลช้ำนั้นอยู่นิ่งๆนาน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้ประคบบริเวณแผลด้วยความร้อน เพื่อให้อาการบวมช้ำลดลง 2. แผลถลอก เป็นบาดแผลตื้นๆ มีผิวหนังถลอกหรือรอยขูดข่วน มีเลือดออกเล็กน้อย และเลือดมักหยุดไหลเอง การปฐมพยาบาล 1. ห้ามเลือด ถ้าเลือดยังไหลไม่หยุด โดยใช้ผ้าสะอาดกดไว้เบาๆหรือใช้ผ้าพันแผลกดแผลไว้นิ่งๆ 2. ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด และเอาเศษผงต่างๆหรือกรวดดินออกให้หมด 3. ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดรอบแผลเบาๆ อย่าให้แผลโดนสบู่เพราะจะทำให้ระคายเคือง 4. ทำแผลด้วยยาใส่แผลสด เช่น เบตาดีน ไม่ต้องปิดแผล 3. บาดแผลถูกของมีคม เกิดจากของมีคม ประเภทใบมีด กรรไกร เศษแก้วหรือกระจก ความลึกของบาดแผลสามารถทำอันตรายต่อเซลล์ผิวหนัง เส้นลือด กล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทได้ และเลือดที่ออกจากแผลประเภทนี้มักจะไหลออกมาก 4. การปฐมพยาบาล ต้องห้ามเลือดก่อน เมื่อเลือดหยุดแล้วทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาด น้ำต้มสุก น้ำเกลือ หรือน้ำผสมด่างทับทิม อย่าเช็ดเลือดก้อนที่แข็งตัวอยู่ออก เพราะจะทำให้เลือดออกจากแผลอีก ระหว่างทำความสะอาดบาดแผลต้องสังเกตลักษณะบาดแผลว่ามีความกว้าง ยาว ลึก หรือมีสิ่งแปลกปลอมหักค้างอยู่หรือไม่ หากไม่ลึกมากควรเอาออก กรณีบาดแผลบริเวณแขน ขา ควรให้อวัยวะส่วนนั้นพักนิ่งๆ เมื่อทำความสะอาดบาดแผลแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน และปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด แต่ถ้าแผลลึกมากควรห้ามเลือด แล้วรีบส่งโรงพยาบาล หลักการห้ามเลือดที่มีเสียเลือดภายนอกจำนวนมาก 1. การกดบนบาดแผลโดยตรง เป็นการใช้ผ้าสะอาดพับวางบนบาดแผลแล้วใช้นิ้วมือกดลงโดยตรงอย่าง น้อย 10 นาที 2. ยกส่วนที่มีบาดแผลให้สูงกว่าระดับหัวใจ (กรณีมีบาดแผลบริเวณแขน ขา) ถ้ามีกระดูกหักห้ามยก 3. ปิดทับผ้าสะอาดนั้นอีกชั้นให้แน่นด้วยผ้าพันแผล หากเลือดยังไม่หยุดให้ใช้ผ้าพันแผล พันทับลงไปให้แน่นอีกผืนหนึ่ง 4. กดบนหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยการใช้นิ้วกดลงบนหลอดเลือดแดงเหนือบาดแผล ตรงจุดที่จับชีพจรได้ จะทำให้เลือดไหลออกจากแผลน้อยลง 5. บาดแผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากวัตถุไม่มีคมที่มีความแรงทำให้ผิวหนังฉีกขาดได้ ขอบแผลมักขาดกะรุ่งกะริ่ง หรือมีการชอกช้ำของแผลมาก จะเจ็บปวดมาก มักจะมีการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนได้มาก จึงมีแนวโน้มของการติดเชื้อสูง การปฐมพยาบาล 1. ปิดแผลทันทีด้วยผ้าที่สะอาด กดไว้เบาๆหรือใช้ผ้าพันแผลกดแผลไว้นิ่งๆ เพื่อเป็นการห้ามเลือด 2. ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด และใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆแผล 3. รีบนำส่งแพทย์เพื่อตกแต่งบาดแผล และเย็บแผล ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และอาจต้องรับประทานยาแก้อักเสบ ถ้าแผลสกปรกมาก 6. แผลถูกแทง เกิดจากวัตถุปลายแหลม เช่น มีดปลายแหลม กริช ไม้ ฯลฯ แม้ว่าปากแผลจะเล็ก แต่มักจะลึก ถ้าลึกลงไปถูกอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น ปอด หัวใจ ตับ ไต กระเพาะอาหาร ฯลฯ จะทำให้ตกเลือดภายในได้มาก การปฐมพยาบาล ถ้าผู้ป่วยมีอาการเป็นลม หน้าซีด แสดงว่ามีเลือดตกใน อย่าตกใจให้ผู้ป่วยนอนราบ ศีรษะต่ำ ไม่ควรให้กินอะไรทั้งสิ้น รีบนำส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจบาดแผลที่ถูกแทงว่าถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่ และหากพบสิ่งหนึ่งสิ่งใดหักคาอยู่บนปากแผล อย่าพยายามดึงออก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น หรือเพิ่มอันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง ควรใช้ผ้าสะอาดบางๆ คลุมไว้ และให้นอนนิ่งๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยจัดผู้ป่วยให้นอนราบขณะเคลื่อนย้าย 7. แผลถูกยิง เป็นแผลที่เกิดจากกระสุนปืน เห็นเป็นรอยกระสุนปืนเข้าและออก ซึ่งรูเข้าจะเล็กกว่ารูออก หรือกระสุนอาจฝังในก็ได้ มีอันตรายต่ออวัยวะภายในและอาจมีการตกเลือดภายในได้ ถ้ากระสุนเข้าไปถูกอวัยวะที่สำคัญภายใน การปฐมพยาบาล ให้ผู้บาดเจ็บนอนพักนิ่ง ๆ ยกปลายเท้าสูง ให้โลหิตไปเลี้ยงสมองมากที่สุด ห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไม่ควรให้ผู้บาดเจ็บกินอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีเลือดออกมากต้องห้ามเลือด ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซและรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด 8. แผลถูกตำ ส่วนมากเกิดจากวัตถุประเภทตะปู เข็ม หรือเข็มหมุด เศษแก้ว หนาม ทิ่มตำ ซึ่งปกติแผลประเภทนี้จะมีเลือดออกไม่มากนัก หรือแทบไม่เห็นเลือดไหลออกมาเลย และแผลเกือบจะปิดในทันที จึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากวัตถุที่ทำให้เกิดแผลอาจมีสปอร์ของเชื้อบาดทะยักหรือเชื้อโรคอื่นๆติดอยู่ โดยเฉพาะถ้าวัตถุนั้นเคยสัมผัสดินมาก่อน การปฐมพยาบาล ให้ดึงของแหลมที่ทิ่มตำผิวหนังนั้นออก เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ ปิดแผลด้วยผ้าที่สะอาด แล้วรีบนำส่งพบแพทย์ทันที เพื่อทำความสะอาดแผลที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง ชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกให้หมด อาจต้องเปิดแผลให้กว้างขึ้น เพื่อไม่ให้แผลกลายเป็นแผลติดเชื้อ และต้องรับประทานยาแก้อักเสบพร้อมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 9. บาดแผลถูกสัตว์กัด สัตว์ทุกชนิด(โดยเฉพาะสุนัข แมว หนู รวมทั้งคน) จะมีเชื้อโรคอยู่ในปาก เมื่อถูกกัดบาดแผลที่ลึกจะนำเชื้อโรคเข้าสู่เนื้อเยื่อได้มาก การปฐมพยาบาลจึงต้องทำทันที แล้วตามด้วยการรักษาของแพทย์ 8.1 บาดแผลตื้น 1. ล้างบาดแผลให้ทั่วด้วยน้ำสะอาดอ่างน้อย 5 นาทีหรือด้วยสบู่และน้ำอุ่น 2. ซับบาดแผลให้แห้ง แล้วปิดด้วยปลาสเตอร์หรือผ้าทำแผลเล็กๆ 3. แนะนำให้ผู้ที่ถูกกัดไปพบแพทย์ 8.2 บาดแผลฉีกขาด หรือลึกมาก 4. ห้ามเลือด ตามหลักการห้ามเลือด 5. กดบาดแผลด้วยผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อ หรือผ้าสะอาดพันให้อยู่กับที่ 6. นำผู้ที่ถูกกัดไปส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคล็ด ข้อเคล็ด หมายถึง การที่ข้อต่าง ๆ ได้มีการเคลื่อนไหวมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อหุ้มข้อ หรือเอ็นรอบๆข้อ รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณข้อมีการฉีกขาดหรือช้ำ สาเหตุข้อเคล็ดนั้น เกิดจากข้อต่อส่วนใหญ่เกิดกระทบกระเทือน ทำให้เยื่อหุ้มหรือเอ็นรอบ ๆ ข้อต่อเคล็ดหรือแพลง ข้อเคล็ด มีอาการบอกให้รู้ดังนี้ บริเวณข้อส่วนนั้นจะบวม ช้ำ มีอาการเจ็บปวด ถ้าเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดจะทำให้เจ็บมากขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย เพราะจะเจ็บปวดมาก มีอาการชาทั่วบริเวณข้อเคล็ด แสดงว่าเส้นประสาทส่วนนั้นเกิดฉีกขาดด้วย การปฐมพยาบาล ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งทันที และประคบหลายๆครั้งติดต่อกัน แต่ละครั้งนาน5-10 นาที และพัก 2-3 นาที เพื่อลดอาการปวด บวม และระหว่างพักให้สังเกตอาการบวมด้วย ถ้าอาการบวมไม่เพิ่มขึ้น ก็หยุดประคบเย็นได้ ถ้ายังมีอาการบวมอยู่ให้ประคบต่อจนครบ 24 ชั่วโมงแรก ให้บริเวณข้อนั้นอยู่นิ่ง โดยพันผ้ายืดและยกสูงไว้ ภายหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ถ้ายังมีอาการบวมให้ประคบด้วยน้ำร้อน หรือนวดด้วยยาหม่อง น้ำมันระกำ GPO ปาล์มฯลฯ ถ้ามีอาการปวดหรือบวมมาก ให้รีบไปพบแพทย์ การปฐมพยาบาลผู้ที่มีข้อเคลื่อน ข้อเคลื่อน หมายถึง ภาวะที่ปลายกระดูก 2 ชิ้น ซึ่งประกอบกันเป็นข้อ เคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งปกติ เป็นผลให้เยื่อหุ้มข้อ เอ็นหุ้มข้อ เส้นเลือด เส้นประสาทของข้อนั้นๆ เกิดการฉีกขาด มักเกิดจากมีแรงกระแทกจากภายนอกมากระทำที่ข้อนั้น หรือถูกกระชากที่ข้อนั้นอย่างรุนแรงฯลฯ ข้อเคลื่อน มีอาการบอกให้รู้ดังนี้ เคลื่อนไหวข้อไม่ได้ ข้อส่วนนั้นจะบวม ปวด รูปร่างของข้อผิดไปจากเดิม เช่น ถ้าเป็นที่ข้อสะโพก ขาข้างนั้นจะสั้นลง ถ้าข้อไหล่หลุด บริเวณหัวไหล่จะแฟบลง ถ้ามีอาการชา แสดงว่าเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณนั้นถูกทำลาย การปฐมพยาบาล ให้ข้อส่วนนั้นอยู่นิ่งที่สุด โดยการใช้ผ้าพัน ห้ามดึงข้อให้เข้าที่ ประคบด้วยความเย็น เพื่อลดอาการปวดและบวมลง รีบนำส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลผู้ที่มีกระดูกหัก กระดูกของคนเราอาจเกิดแตกหักได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ระมัดระวังหรือไม่ป้องกันอันตราย เช่น การถูกกระแทกจากอุบัติเหตุต่างๆ การสะดุด การบิด หรือการกระชาก ลักษณะของกระดูกหักแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หักออกจากกันเป็น 2 ส่วน อาจหักธรรมดาไม่มีบาดแผลหรือหักมีบาดแผล กระดูกแตกละเอียด จะมีอันตรายเมื่อมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท หรือกระดูกที่หักแทงทะลุอวัยวะภายในที่สำคัญ กระดูกหักไม่ขาดออกจากกัน มีลักษณะกระดูกร้าว กระดูกเดาะ หรือกระดูกบุบ ลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่กระดูกหัก อาการทั่ว ๆ ไป อาจมีอาการช็อก มีอาการบวม และร้อน ลักษณะกระดูกผิดรูปร่างไปจากเดิม เคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าจับดูจะมีเสียงกรอบแกรบ อาจมีบาดแผลที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่หัก หรือพบปลายกระดูกโผล่ออกมาให้เห็นชัดเจน การปฐมพยาบาล 1. ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ ประคองและจับส่วนที่บาดเจ็บอย่างมั่นคง อย่าพยายามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยไม่จำเป็น หรือจนกว่าส่วนของกระดูกที่หักจะได้รับการเข้าเฝือกแล้ว 2. ใส่เฝือกชั่วคราว โดยใช้วัสดุที่หาง่าย เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษแข็ง ไม้ไผ่ เป็นต้น ( ถ้าเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกโคนขา อาจใช้ขาข้างดีเป็นตัวยึดก็ได้) และก่อนเข้าเฝือก ควรใช้ผ้าสะอาดพันส่วนที่หักให้หนาพอสมควร หรือทำการห้ามเลือดก่อน ถ้ามีเลือดออกมาก 3. พันผ้ายืดไม่ให้เคลื่อนไหว ระวังอย่าพันให้แน่นจนเกินควร เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก ถ้าเป็นปลายแขน หรือมือ ใช้ผ้าคล้องคอ 4. ถ้ากระดูกหักโผล่ออกมานอกเนื้อ อย่าดันกลับเข้าที่เดิมเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคและสิ่งสกปรกจากภายนอกเข้าไปในแผลส่วนลึกได้ ให้หาผ้าสะอาดคลุม หรือปิดบาดแผลไว้ 5. ให้ยาแก้ปวดหากปวดแผลมาก เช่น พาราเซตะมอล และห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย 6. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ที่บาดเจ็บต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยให้ส่วนที่หักเคลื่อนไหวน้อยที่สุด การปฐมพยาบาลผู้ที่เป็นตะคริว สาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นกันก็คือ 1. เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยง เช่น ใช้ถุงเท้าที่รัดแน่นเกินไป หรือ อยู่ในที่อากาศเย็นจัด 2. การขาดเกลือแร่บางอย่าง เช่น เกลือโซเดียม แคลเซียม ซึ่งเสียไปกับการหลั่งเหงื่อ 3. จากการถูกกระทบกระแทก อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เช่น การทำลูกหนู 4. การหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ เนื่องจากการออกกำลังกายมากเกินไป หรือการนั่ง นอน ยืน ในท่าที่ไม่ถนัด ตะคริวถ้าเป็นพร้อมกันหลาย ๆ แห่ง มักเกิดจากการขาดน้ำ อาหาร เกลือแร่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งตะคริวที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อสามารถคลายออกได้ โดยการใช้กำลังยืดกล้ามเนื้อ ตามทิศทางการทำงานของกล้ามเนื้อ บริเวณกล้ามเนื้อที่พบว่าเป็นตะคริวได้บ่อยคือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และกล้ามเนื้อหลัง แต่ที่คนส่วนใหญ่เป็นกันคือกล้ามเนื้อน่อง การปฐมพยาบาล ปกติแล้วกล้ามเนื้อจะคลายตัวเองลง แต่เราก็มีวิธีช่วยให้คลายตัวได้เร็วขึ้น โดย 1. ค่อยๆเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวให้ยืดออก ในรายที่เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อน่อง ซึ่งทำหน้าที่เหยียดปลายเท้า ขณะเป็นตะคริวจะหดเกร็ง และทำให้ปลายเท้าเหยียด การใช้กำลังดันปลายเท้าเข้าหาเข่าโดยค่อยๆ เพิ่มกำลังดันจะช่วยเหยียดกล้ามเนื้อน่องได้ 2. ใช้ความร้อนประคบหรือถูนวดเบา ๆ ด้วยยาหม่องหรือน้ำมันสโต๊ก ทำให้เลือดเลี้ยงมากขึ้น กล้ามเนื้อคลายและมีกำลังหดได้อีก 3. ให้ความอบอุ่นแก่ผู้ที่เป็นตะคริว และให้น้ำผสมเกลือแกงดื่มเป็นระยะ ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายการเกร็งได้ดีขึ้น การปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการชัก การชัก เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อในร่างกายหลายมัดทันที โดยไม่ได้ตั้งใจ เกิดจากสมองที่ทำงานผิดปกติ มักเกิดร่วมกับการไม่รู้สึกตัว สาเหตุ เกิดได้หลายอย่าง รวมทั้งการบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคบางอย่างที่ทำลายสมอง สมองขาดออกซิเจน และได้รับสารพิษบางอย่าง ในเด็กอาจชักได้เนื่องจากไข้สูง และการชักเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของโรคลมชัก การชักไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม ขณะชักผู้ที่มีอาการชักมักไม่รู้สึกตัว การช่วยเหลือเบื้องต้นแต่ละครั้ง ต้องจัดให้ผู้ที่ชักนอนตะแคง ระวังสำลัก ถ้ามีสิ่งของในปาก เช่น เศษอาหาร ฟันปลอมให้ล้วงออก และใช้ด้ามช้อน ไม้ หรือด้ามดินสอสอดเข้าไปในปากระหว่างฟันกราม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ชักกัดลิ้น และต้องป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะจากการล้มลง โรคลมชักรุนแรง พยายามช่วยประคอง ถ้าผู้ที่ชักจะล้มและขอให้ผู้มุงดูถอยห่างออกไป คลายเสื้อผ้าออกโดยเฉพาะรอบคอและประคองศีรษะไว้ด้วย 1. เมื่อหยุดชักแล้วจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น และอยู่กับผู้ที่ชัก จนกระทั่งรู้สึกตัวดี 2. รีบนำส่งโรงพยาบาล ถ้าเป็นการชักครั้งแรกและชักซ้ำๆ กัน หรือไม่รู้สึกตัวนานเกิน 10 นาที การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกงูกัด การถูกงูกัด เป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนอย่างหนึ่งที่ต้องรีบให้การปฐมพยาบาล เพื่อลดความรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากพิษงู ทั้งยังเป็นการชะลอเวลาการออกฤทธิ์ของพิษงูเพื่อนำส่งสถานพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ในเมืองไทยเรางูมีพิษมีหลายชนิด พิษของงูแบ่งออกคร่าวๆ เป็น 3 แบบคือ 1. พิษงูที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ 2. พิษงูที่ทำให้เกิดเป็นอัมพาตยับยั้งการทำงานของระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง 3. พิษงูที่ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง เช่น งูทะเล อาการเมื่อถูกงูพิษกัด นอกจากจะสามารถบอกได้ว่าถูกงูกัดได้โดยการเห็นตัวงูแล้ว ในกรณีที่ไม่เห็นตัวงู ตรงรอยที่ถูกงูกัดกัดจะมีรอยเขี้ยว 2 รอย และจะมีอาการใน 10 นาที อาการของผู้ถูกงูกัด แล้วแต่ชนิดของงู เช่น งูเห่าจะมีพิษทำอันตรายต่อระบบประสาท อาการทั่วไป จะเกิดขึ้นภายหลังประมาณครึ่งชั่วโมง โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย เดินไม่ไหว หนังตาตก พูดอ้อแอ้ กลืนลำบากและหายใจไม่สะดวก ในที่สุดจะเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย และอาจถึงแก่ความตายได้ เนื่องจากการหายใจหยุด การปฐมพยาบาล รอยแผลงูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1 หรือ 2จุด (งูไม่มีพิษ แผลจะเป็นรอยถลอก) ให้ผู้ที่ถูกงูกัดนอนลง จัดให้มือหรือเท้าที่ถูกกัดอยู่ระดับเดียวหรือต่ำกว่าระดับหัวใจ ปลอบใจ ไม่ให้ตื่นตกใจ และพยายามให้ผู้ที่ถูกงูกัดอยู่นิ่งๆ หรือให้เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะการตื่นเต้น ตกใจ หัวใจจะเต้นเร็ว หรือเคลื่อนไหวมาก จะทำให้พิษงูเข้าไปในกระแสเลือดมากขึ้น ค่อยๆ ล้างบาดแผลที่ถูกงูกัด ด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดเท่าที่พอจะทำได้ ห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดกดบาดแผลโดยตรง หรือใช้การพันผ้า ดามขาข้างที่ถูกงูกัดกับขาอีกข้างโดยใช้ผ้านุ่มคั่นระหว่างขา และรัดด้วยผ้าที่ข้อเท้าและเข่า และประคองส่วนที่บาดเจ็บ นำส่งโรงพยาบาล หมายเหตุ การใช้เชือกรัดบริเวณเหนือจุดที่ถูกกัด ปัจจุบันไม่ขอแนะนำ เพราะการรัดแน่นจนเกินไปหรือถ้าถูกรัดไว้เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการขาดเลือดของอวัยวะที่อยู่ใต้ส่วนที่รัดได้ การปฐมพยาบาลผู้ที่จมน้ำ ถ้าผู้ที่จมน้ำยังอยู่ในน้ำและรู้สึกตัวดีให้ช่วยเหลือโดยการโยนสิ่งของให้เกาะ เช่น เชือก หรือเสื้อชูชีพ แล้วช่วยผู้จมน้ำให้ขึ้นจากน้ำโดยเร็ว ถ้าผู้ที่จมน้ำรู้สึกตัวดี และหายใจเองได้ให้นอนราบกับพื้น เช็ดตัวให้แห้ง และห่มผ้าให้ความอบอุ่น ถ้าผู้ที่จมน้ำรู้สึกตัวดี แต่ไอหรือจามและอาเจียน จัดให้นอนตะแคง เพื่อให้สิ่งที่อาเจียนและเสมหะไหลออกได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่หมดสติ ให้ดูว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าหยุดหายใจ ให้เปิดทางเดินหายใจทันที โดยกดหน้าผากลงและยกคางให้เงยหน้าขึ้น และคลำชีพจรที่คอ ถ้ายังมีชีพจรอยู่ แต่ยังไม่หายใจหรือหายใจช้า ให้ช่วยหายใจ โดยวิธีการเป่าปากหรือเป่าปากกับจมูกของผู้ที่จมน้ำ ในกรณีที่คลำชีพจรที่คอไม่ได้ แสดงว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นแล้ว ให้ช่วยฟื้นคืนชีพโดยการช่วยหายใจและการนวดหัวใจ และ รีบนำส่งโรงพยาบาลไม่ว่าจะรู้สึกตัวดีหรือไม่ก็ตาม หรือโทรศัพท์ 1669 เพื่อขอรถพยาบาลฉุกเฉิน การปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้า เป็นเครื่องอำนวยความสะดวก ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตที่คนเราจะขาดเสียไม่ได้ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดอันตรายได้มาก ทั้งจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เผลอเรอ หรือจากอุปกรณ์ไฟฟ้ามี่ปัญหา อาจทำให้ผู้ใช้ถูกไฟฟ้าดูด มีบาดแผลไฟไหม้ หรืออาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ การช่วยเหลือผู้ถูกไฟดูด ช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟดูดพ้นจากการสัมผัส โดยการปลดสวิทช์กระแสไฟฟ้า หรือใช้ผ้า หรือกระดาษหุ้มโคนไม้แห้งๆ หรือสิ่งที่เป็นฉนวนไฟฟ้าเขี่ยสายไฟออกให้พ้นตัวผู้ที่ถูกไฟดูด โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมรองเท้าพื้นยางยืนอยู่บนกระดาน หรือพื้นที่ไม่เปียก ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เมื่อแน่ใจว่าตัดกระแสไฟฟ้าออกไปได้แล้ว ถ้าตรวจพบว่าผู้ที่ถูกไฟดูดไม่รู้สึกตัว ให้เปิดทางเดินหายใจทันที ด้วยกดหน้าผากลงและยกคางให้เงยหน้าขึ้น ตรวจการหายใจและชีพจร และเตรียมการช่วยฟื้นคืนชีพ และห่มผ้าให้ความอบอุ่น ตรวจดูบาดแผล ถ้ามีแผลไหม้ ให้ใช้น้ำเย็นราดและปิดบาดแผลด้วยผ้าปิดแผล รีบนำส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลผู้ที่มีเลือดกำเดาออก เลือดกำเดาออก คือ การมีเลือดไหลออกจากจมูก ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกที่บริเวณจมูก หรือการแคะจมูก จากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือมีเนื้องอก หรือเป็นโรคเลือดบางชนิด พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ 2 เท่า ในเด็กมักมีเลือดกำเดาออกจากด้านหน้าผนังกั้นจมูก ส่วนผู้ใหญ่เลือดจะออกจากบริเวณผนังกั้นจมูกหรือผนังกั้นร่องจมูก การปฐมพยาบาล 1. ให้ผู้ที่มีเลือดกำเดาออกนั่ง โน้มตัว หรือก้มหน้าเล็กน้อย และให้หายใจทางปาก 2. บอกไม่ให้สั่งน้ำมูก กลืน ไอ ถ่มน้ำลาย หรือสูดจมูก เพราะอาจทำให้เลือดกำเดาไหลออกมาอีก 3. ใช้มือบีบจมูกให้แน่น 10 นาที แล้วคลายนิ้วออก จะทำให้เลือดแข็งตัว และหยุดไหล ถ้าเลือดยังไหลไม่หยุดให้บีบซ้ำอีก 10 นาที หรืออาจ ใช้กระเป๋าน้ำแข็งวางที่บริเวณดั้งจมูกและหน้าผาก 2-3 นาที เลือดกำเดาจะหยุดไหลเอง แต่ถ้าเลือดกำเดายังไหลอยู่และนานเกิน 20 นาที หรือสงสัยว่าดั้งจมูกหัก เพราะแรงกระแทกรุนแรงหรือถูกกระแทกบริเวณอื่น แล้วมีเลือดออกจากจมูก ซึ่งอาจเป็นอาการของการบาดเจ็บอวัยวะสำคัญบริเวณอื่น ได้ เช่น กะโหลกศีรษะ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติ การหมดสติ แบ่งได้ 2 พวก คือ การหมดสติพร้อมกับมีอาการหายใจลำบาก หรืออาจหยุดหายใจ และหมดสติ แต่ยังมีการหายใจ ซึ่งเป็นพวกที่มีอาการชัก ได้แก่ ลมบ้าหมู หรีอจากโลหิตเป็นพิษ หรือโรค เช่น ฮิสทีเรีย และพวกไม่มีอาการชัก ได้แก่ ช็อก เป็นลม เมาเหล้า เบาหวานและเส้นโลหิตในสมองแตก ลักษณะการหมดสติ มี 2 ลักษณะ คือ อาการซึม มึนงง เขย่าตัว อาจตื่น งัวเงียแล้วหลับ พูดได้บ้าง แต่ฟังไม่ได้ศัพท์ และลักษณะอาการหมดความรู้สึกทุกอย่าง แม้แต่เขย่าตัวก็ไม่ฟื้น ดังนั้นการปฐมพยาบาลผู้ที่หมดสติอย่างถูกต้อง รวดเร็ว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การปฐมพยาบาล 1. ให้ตรวจดูว่าผู้ที่หมดสติยังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าไม่หายใจ ให้เปิดทางเดินหายใจ โดยกดหน้าผากลงและยกคางให้เงยหน้าขึ้น และถ้ายังไม่หายใจให้ช่วยหายใจ โดยผู้ช่วยเหลือเป่าลมหายใจออกเข้าไปในปอดของผู้ที่หมดสติ และช่วยฟื้นคืนชีพ โดยการนวดหัวใจ ถ้ามีหัวใจหยุดเต้น 2. ตรวจร่างกายผู้ที่หมดสติอย่างรวดเร็ว และดูให้ทั่ว ว่ามีการบาดเจ็บหรือมีภาวะอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีบาดแผลและมีเลือดออก หรือมี กระดูกหัก ให้ทำการห้ามเลือด และช่วยประคองให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่กับที่ ต้องระมัดระวัง หากต้องการเคลื่อนไหว 3. ถ้าผู้ที่หมดสติ เริ่มมีอาเจียน จัดให้นอน เอียงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลังลำคอ ซึ่งจะอุดกั้นทางเดินหายใจได้ และป้องกันไม่ให้อาเจียนไหลเข้าสู่หลอดลม 4. หากมีอาการชัก ให้ม้วนผ้า หรือด้ามช้อนใส่เข้าไประหว่างฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตนเอง พร้อมทั้งหาสาเหตุที่ทำให้หมดสติ และประวัติการเกิดอุบัติเหตุจากผู้เห็นเหตุการณ์ด้วย เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อนำส่งโรงพยาบาล การเป็นลม การเป็นลม เป็นการหมดสติไปชั่วครู่ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วคราว มักมีอาการซึม เวียนศีรษะนำมาก่อนและมีอาการตัวซีดเย็นเฉียบร่วมด้วย ความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่หมดสติก็ได้ การตกใจรุนแรง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้ความดันโลหิตลดลง และรู้สึกจะเป็นลมได้ ถ้าเป็นลมหมดสติไปชั่วคราว เมื่อให้นอน ยกเท้าสูง และได้รับอากาศที่ถ่ายเทดี แล้วสามารถหายใจได้ดี และรู้สึกตัวภายใน 2-3 นาที โดยไม่มีอาการอื่นแทรกก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าต้องตกใจ แต่ถ้าเป็นลมบ่อย ๆ หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบปรึกษาแพทย์ หรือถ้าหมดสติไปนาน หายใจไม่ดี ไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที และระหว่างทางไปโรงพยาบาล ควรอยู่ในท่านอนกึ่งคว่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน การปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการช็อก ช็อก มีอาการเริ่มแรกเหมือนกับเป็นลม คือ มีอาการหน้ามืด มือเท้าอ่อนแรง อยากล้มตัวนอน หายใจไม่อิ่ม ใจหวิว มืออาจสั่นและตาลาย ถ้าตรวจร่างกายขณะมีอาการช็อก จะพบว่า มีตัวเย็นชืด หน้าซีดหรือเขียว อาจมีเหงื่อออกมาก ชีพจรเบาเร็วและหายใจเร็ว ตื้น กระหายน้ำ ซึม ไม่ค่อยพูด เพราะเหนื่อย อาการจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของช็อก ถ้าช็อกนาน สมองจะขาดเลือดมาก ทำให้หมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ กาปฐมพยาบาล ช็อก ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม การช่วยเหลือเริ่มแรกเหมือนกันหมด คือ พยายามให้มีการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น อวัยวะที่ทนต่อหัวใจขาดเลือดที่น้อยที่สุด คือสมอง หัวใจ และไต ดังนั้นควรช่วยเหลือผู้ที่มีอาการช็อก โดย ให้นอนราบ เลือดจะได้ไปเลี้ยงสมองพอเพียง พร้อมกับทำให้หัวใจทำงานน้อยลง โดยให้นอนยกเท้าให้สูง ถ้ามีเลือดออกจากภายนอกต้องห้ามเลือดตามวิธีการที่เหมาะสม ถ้ามีกระดูกหักต้องใส่เฝือกชั่วคราว ป้องกันไม่ให้เสียเลือดมากและทำให้ไม่เจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ถ้าอากาศเย็นหรือหนาว ควรห่มด้วยผ้าห่มให้ร่างกายมีความอบอุ่น การให้ยาระงับปวด เช่น พาราเซตามอล ให้ใช้เฉพาะผู้ที่มีความเจ็บปวดมากเท่านั้น ที่ดีที่สุด คือ รีบนำส่งโรงพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น